7 ขั้นตอนพัฒนาระบบซอฟต์แวร์องค์กร พร้อมเข้าใจวงจร SDLC แบบง่าย ๆ

ในยุคที่ธุรกิจต้องพึ่งพาเทคโนโลยีอย่างเต็มรูปแบบ “ระบบซอฟต์แวร์” กลายเป็นหัวใจสำคัญที่ช่วยให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และแม่นยำ แต่การจะสร้างระบบซอฟต์แวร์ที่ดี ไม่ใช่เพียงแค่มีนักพัฒนาเก่ง ๆ เท่านั้น สิ่งที่ขาดไม่ได้คือ “วงจรชีวิตการพัฒนาระบบซอฟต์แวร์” หรือ SDLC ซึ่งเป็นแนวทางที่ช่วยให้การพัฒนาเป็นระบบ ลดข้อผิดพลาด และควบคุมคุณภาพของซอฟต์แวร์ได้ตั้งแต่ต้นจนจบบทบาท 

ในบทความนี้เราจะพาไปทำความเข้าใจว่า SDLC คืออะไร ทำไมทุกองค์กรที่ต้องการซอฟต์แวร์คุณภาพควรให้ความสำคัญกับกระบวนการนี้เป็นอย่างยิ่ง


ทำความรู้จัก วงจรชีวิตการพัฒนาระบบซอฟต์แวร์ (SLDC)

วงจรชีวิตการพัฒนาระบบซอฟต์แวร์ หรือชื่อภาษาอังกฤษ Software Development Lifecycle เป็นกระบวนการต่าง ๆ สำหรับการพัฒนาระบบซอฟต์แวร์ ให้ออกมาอย่างมีประสิทธิภาพ ลดความเสี่ยง ประหยัดงบประมาณ และระยะเวลาในการพัฒนาให้ตรงตามแผนที่วางไว้มากที่สุด ซึ่งจะประกอบไปด้วยขั้นตอนในการพัฒนาซอฟต์แวร์ โดยละเอียด ตั้งแต่ ประเมินความต้องการ ออกแบบ พัฒนา ปรับปรุง แก้ไข ไปจนถึงการบำรุงรักษา

ความสำคัญของวงจรชีวิตการพัฒนาระบบซอฟต์แวร์

ในการพัฒนาระบบซอฟต์แวร์ให้มีคุณภาพ ทำงานได้อย่างราบรื่น วงจรชีวิตการพัฒนาระบบซอฟต์แวร์ หรือ SDLC เป็นกระบวนการที่ไม่ควรมองข้าม ซึ่งความสำคัญของ SDLC มีดังนี้

  • ประเมินความเสี่ยง และต้นทุนได้แม่นยำ โดยการกำหนด SDLC ที่ชัดเจน จะช่วยให้ทีมพัฒนาสามารถกำหนดงบประมาณ ทรัพยากร ที่จะต้องใช้ได้อย่างถูกต้อง
  • มีลำดับการพัฒนาที่มีประสิทธิภาพ การสร้างวงจรพัฒนาซอฟต์แวร์ จะช่วยให้ทีมพัฒนา สามารถจัดการลำดับขั้นตอนต่าง ๆ ได้ชัดเจน ทำให้สามารถพัฒนาซอฟต์แวร์ได้ทันเวลาที่กำหนด โดยที่ผลงานมีคุณภาพ
  • สร้างกรอบการทำงานชัดเจน SDLC จะช่วยให้ทีมผู้พัฒนาซอฟต์แวร์สามารถเห็นภาพของกระบวนการพัฒนาที่ชัดเจน รวมถึงการกำหนดหน้าที่รับผิดชอบของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้อย่างถูกต้อง
  • ลูกค้าหรือผู้ว่าจ้างสามารถมีส่วนร่วมพัฒนา เพราะ SDLC จะมีการสำรวจเป้าหมายและความต้องการของลูกค้า ก่อนเริ่มพัฒนาซอฟต์แวร์ ทำให้ลูกค้าหรือผู้ว่าจ้างสามารถมีส่วนในการเสนอไอเดีย และร่วมรับรู้กระบวนการต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง

7 ขั้นตอนการพัฒนาระบบซอฟต์แวร์องค์กร

สำหรับวงจรการพัฒนาระบบซอฟต์แวร์ ที่ทาง Software Development มักเลือกใช้ เพื่อให้ได้ผลงานที่มีคุณภาพ ตรงตามเป้าหมายที่วางไว้ จะมีรายละเอียดและบริบทของขั้นตอนต่าง ๆ ดังนี้ 

1. วิเคราะห์เป้าหมาย

ลำดับแรกของ SDLC คือผู้พัฒนาจะต้องทำการรวบรวม บันทึก และวิเคราะห์เป้าหมายและความต้องการของลูกค้า เพื่อให้สามารถกำหนดวัตถุประสงค์ในการพัฒนาซอฟต์แวร์ได้อย่างชัดเจน รวมถึงทำการประเมินความเสี่ยงต่าง ๆ งบประมาณ และทรัพยากรที่มีอยู่ เพื่อให้สามารถวางขอบเขต ฟีเจอร์หรือฟังก์ชันที่สามารถทำได้ รวมถึงกำหนดระยะเวลาที่จะใช้ในการพัฒนาซอฟต์แวร์ได้ชัดเจน 

2. ประเมินความเป็นไปได้ 

หลังจากที่วางแผนการดำเนินงานได้อย่างชัดเจน ขั้นตอนต่อมาคือการประเมินถึงความเหมาะสมของขั้นตอน, กระบวนการดำเนินงาน ความเสี่ยง และงบประมาณที่ต้องใช้ เพื่อวางแผนป้องกันความผิดพลาดต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น และรับมือกับปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

3. ออกแบบระบบซอฟต์แวร์

เมื่อวางเป้าหมาย ขั้นตอนการทำงาน และประเมินความเสี่ยงแล้ว ขั้นตอนต่อมาคือส่วนของการเริ่มออกแบบระบบซอฟต์แวร์ ซึ่งจะเป็นการออกแบบตามเป้าหมายและสิ่งที่ลูกค้าต้องการ ส่วนที่ขาดไม่ได้สำหรับกระบวนการนี้คือ การออกแบบสถาปัตยกรรมของซอฟต์แวร์ โดยสร้างพิมพ์เขียวที่ระบุกระบวนการทำงานตั้งแต่ต้นจนจบของซอฟต์แวร์ ก่อนเริ่มนำไปพัฒนาจริง ทั้งนี้ซอฟต์แวร์ที่ออกแบบจะต้องมีรูปแบบการใช้งานที่ง่าย สะดวก ตอบโจทย์ผู้ใช้งานที่สุด 

4. การพัฒนาซอฟต์แวร์

เมื่อได้พิมพ์เขียวของระบบซอฟต์แวร์ที่จะพัฒนาแล้ว ในส่วนต่อมาจะเป็นกระบวนการเริ่มดำเนินการพัฒนาซอฟต์แวร์ ซึ่งจะเป็นการเขียนโค้ด และสร้างซอฟต์แวร์เพื่อเตรียมใช้งานจริง โดยอ้างอิงจากพิมพ์เขียวระบบที่ออกแบบไว้ ทั้งนี้ในกระบวนการพัฒนาจะมีการแบ่งทีมพัฒนาออกเป็นแต่ละส่วน ก่อนที่จะนำโค้ดทั้งหมดมารวบรวม เพื่อทำการทดสอบ ปรับปรุง พัฒนาอย่างต่อเนื่อง จนได้เวอร์ชันที่ดีที่สุด 

5. ทดสอบระบบ

หลังจากที่ทีมพัฒนา ได้ทำการพัฒนาซอฟต์แวร์เรียบร้อยแล้ว ส่วนต่อมาคือการทดสอบระบบก่อนนำไปใช้งานจริง โดยจะเป็นการหาข้อบกพร่องต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นระหว่างใช้งานซอฟต์แวร์ มีการจำลองรูปแบบการใช้งานในหลากหลายรูปแบบ หลายสถานการณ์ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าตัวซอฟต์แวร์มีความเสถียรเพียงพอ ก่อนที่จะเผยแพร่ และนำไปใช้งานจริง 

6. ติดตั้งระบบ และนำไปปรับใช้ 

เมื่อระบบซอฟต์แวร์ได้ผ่านการทดสอบระบบ และผ่านการปรับปรุง พัฒนาจนเสร็จสิ้นแล้ว ก็จะเป็นการนำซอฟต์แวร์ที่ได้ไปปรับใช้งานจริง และตั้งค่าระบบให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงได้ โดยทีมผู้พัฒนาจะต้องทำหน้าที่ช่วยชี้แจง และสอนวิธีการใช้งานให้กับลูกค้า หรือผู้ใช้งาน พร้อมจัดทำคู่มือสำหรับซอฟต์แวร์ เพื่อสะดวกต่อผู้ใช้งาน 

7. ดูแลและบำรุงรักษา

วงจรสุดท้ายของ SDLC หรือระบบซอฟต์แวร์ คือการดูแลและบำรุงรักษาอย่างต่อเนื่อง เพราะแม้ว่าตัวระบบซอฟต์แวร์จะถูกนำไปเผยแพร่แล้วก็ตาม แต่หน้าที่ของ Software Development ยังไม่สิ้นสุดลงเพียงแค่นั้น แต่ยังต้องมีการคอยหมั่นอัปเดตกับลูกค้า ผู้ใช้งาน เพื่อคอยแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงพัฒนาซอฟต์แวร์ เพิ่มฟีเจอร์ หรือนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อให้ซอฟต์แวร์ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตอบโจทย์ผู้ใช้งานมากยิ่งขึ้น

ทำความเข้าใจถึงเหตุผลที่องค์กรควรใช้ Software Development และวิธีพัฒนาซอฟต์แวร์ 
ได้ที่บทความ: 4 วิธีใช้ Software Development ให้เร็วขึ้น ดีขึ้น และตรงเป้าหมายองค์กร


สรุป

จะเห็นได้ว่า วงจรการพัฒนาระบบซอฟต์แวร์ หรือ SDLC นั้น ถือว่าเป็นกระบวนสำคัญต่อ Software Development เพื่อให้ได้ระบบซอฟต์แวร์ที่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตรงต่อเป้าหมายที่วางไว้ และสามารถดูแลปรับปรุงอย่างต่อเนื่องได้ นอกจากนี้ยังสะท้อนถึงรูปแบบการทำงานระดับมืออาชีพของทีมพัฒนาอีกด้วย

หากองค์กรไหนที่ต้องการพัฒนาระบบซอฟต์แวร์องค์กรให้มีคุณภาพ ขอแนะนำ อโยเดีย ที่มีทีมผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์โดยเฉพาะ ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย และมาตรฐานระดับสากล พร้อมสร้างสรรค์ซอฟต์แวร์ที่ตอบโจทย์และพาธุรกิจของคุณให้เติบโตยิ่งขึ้น

Footer Ayodia